การสร้างความเป็นผู้นำด้วยตัวเอง

การสร้างความเป็นผู้นำด้วยตัวเอง 2 ส่วนหลัก
ความเป็นผู้นำภายใน: ควบคุมการตัดสินใจและการกระทำด้วยความคิดที่มีเหตุผล ไม่ตอบสนองตามอารมณ์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีในสถานการณ์ต่างๆ
ความเป็นผู้นำภายนอก: การแสดงออกผ่านบุคลิกภาพและการสื่อสารที่ดี ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อความเป็นผู้นำภายในมั่นคง

เพื่อพัฒนาความเป็นผู้นำ ใช้ 6 วิธีนี้:
ควบคุมตัวเองได้ดี:  คิดและตัดสินใจอย่างมีสติ เพื่อผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
การแยกแยะสิ่งที่ถูกและผิด:  ยึดมั่นในหลักจริยธรรม
มีความคิดสร้างสรรค์:  คิดริเริ่มและพัฒนาวิธีใหม่ๆ
มีทักษะการโน้มน้าว:  ทำให้ผู้อื่นเห็นด้วยและสนับสนุนไอเดียของคุณ
กล้าตัดสินใจ:  รับผิดชอบการตัดสินใจ
มีทักษะพัฒนาคน:   โค้ชชิ่งผู้อื่นได้
การฝึกฝนเหล่านี้จะทำให้คุณเป็นผู้นำที่ได้รับการยอมรับจากคนรอบข้าง

การกล่าวทักทายให้ประทับใจตั้งแต่ “คำแรก”(คลิป)

คำแรกที่คุณเลือกพูดในการเปิดการนำเสนอสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วงต้นของการนำเสนอเป็นเวลาที่ผู้ฟังมีสมาธิและตั้งใจฟังคุณมากที่สุด! ถ้าคำแรกที่พูดออกไปเป็นคำฟุ่มเฟือยหรือไม่มีความหมาย จะทำให้เสียโอกาสทองไปโดยเปล่าประโยชน์

คำฟุ่มเฟือยเหล่านี้มักเกิดจากความตื่นเต้น โดยเฉพาะเมื่อต้องขึ้นเวทีใหม่ๆ หรือเริ่มพูดต่อหน้าผู้ฟัง คุณอาจสังเกตเห็นคนรอบตัวมักเริ่มด้วยคำฟุ่มเฟือยแบบนี้เสมอ เช่น “ครับ… เอ่อ… ชื่อ…ก็….อ่า….” แม้จะฟังดูเล็กน้อย แต่หากปรับเปลี่ยนให้คำแรกของคุณที่มีความหมายและดึงดูด จะช่วยสร้างความประทับใจตั้งแต่เริ่มต้นได้ทันที คำฟุ่มเฟือย ในระหว่างการพูดควรหลีกเลี่ยงการใช้ซ้ำๆ อย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นความเคยชิน

เริ่มต้นด้วยคำที่มีความหมาย
ลองใช้คำที่สื่อถึงความรู้สึกดีและเหมาะสม เช่น

  • “ดีใจจังเลยค่ะที่ได้มาพบกับทุกท่านวันนี้”
  • “เป็นเกียรติมากที่ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในวันนี้”

คำเหล่านี้ไม่เพียงช่วยให้คุณดูมีความมั่นใจ แต่ยังสร้างความรู้สึกเชื่อมโยงกับผู้ฟังตั้งแต่ต้น

วิธีง่ายๆ คือมีสติ
ก่อนขึ้นเวที ให้เตือนตัวเองถึงคำแรกที่คุณจะพูด จำไว้ว่าจะเริ่มต้นด้วยคำที่มีความหมาย อย่าปล่อยให้ความตื่นเต้นครอบงำจนเผลอพูดคำที่ไร้ความสำคัญ


สรุป
ทุกครั้งก่อนการนำเสนอ ให้นึกถึงคำแรกที่คุณจะพูด เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความประทับใจตั้งแต่เริ่มต้น ใช้นาทีทองของการเปิดการนำเสนอเพื่อเชื่อมโยงกับผู้ฟัง ให้พวกเขาตกหลุมรักคุณตั้งแต่ “คำแรก” 

เทคนิคการนำเสนองานหรือการพูดในที่ชุมชน

เทคนิคที่ 1: ใช้กฎ 10-20-30

  • 10 สไลด์: ควรทำสไลด์เพียง 10 หน้า
  • 20 นาที: จำกัดเวลานำเสนอให้ไม่เกิน 20 นาที
  • 30 พอยต์: ใช้ขนาดตัวอักษรอย่างน้อย 30 พอยต์

การใช้กฎนี้ช่วยให้ผู้ฟังจดจ่อและมีส่วนร่วมได้ง่ายขึ้น เนื้อหากระชับ ไม่ยืดเยื้อ และตัวอักษรที่ใหญ่จะดึงดูดความสนใจของผู้ฟังได้ดี

เทคนิคที่ 2: เตรียมตัวและฝึกฝน

การนำเสนอที่ดีเริ่มจากการเตรียมตัวและฝึกซ้อมอย่างเพียงพอ ไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อหา แต่ยังรวมถึงภาษากาย ภาษามือ และการใช้อวัจนภาษา และการควบคุมอารมณ์ เพื่อเพิ่มความมั่นใจในการสื่อสาร

เทคนิคที่ 3: เริ่มต้นด้วยคำคมหรือข้อความที่มีผลกระทบ

การเริ่มนำเสนอด้วยเรื่องราวที่โดนใจ หรือคำคมที่สะท้อนชีวิตผู้ฟัง ช่วยสร้างอารมณ์ร่วมและความเชื่อมโยงตั้งแต่ต้น เทคนิคการเล่าเรื่อง (Storytelling) จะช่วยเพิ่มพลังให้การนำเสนอของคุณน่าจดจำยิ่งขึ้น

เทคนิคที่ 4: แสดงความกระตือรือร้น

การแสดงออกถึงความกระตือรือร้นและพลังในการพูด ทำให้ผู้ฟังรู้สึกมีส่วนร่วมและสนใจ หากคุณไม่แสดงความกระตือรือร้น ผู้ฟังอาจรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่จดจ่อกับเนื้อหา ไม่พูดวนไปวนมา มีมุขตลกบ้าง

เทคนิคที่ 5: ใช้ภาพประกอบ

ภาพถ่ายหรือภาพกราฟิกช่วยดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง และทำให้เนื้อหาเข้าใจง่ายขึ้น การจัดวางภาพที่เหมาะสมและสวยงามช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับการนำเสนอของคุณ

เทคนิคที่ 6: สร้างส่วนร่วมกับผู้ฟัง

อย่าพูดอยู่ฝ่ายเดียว! ลองตั้งคำถามหรือเปิดโอกาสให้ผู้ฟังตอบกลับ จะช่วยให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วม และโฟกัสกับคุณมากขึ้น

เทคนิคที่ 7: ใช้เสียงอย่างมีประสิทธิภาพ

การปรับระดับเสียงและน้ำเสียงในการพูดเป็นสิ่งสำคัญ คุณควรฝึกนำเสนอในพื้นที่จริงกับเพื่อนหรือทีมงาน เพื่อดูว่าเสียงของคุณดึงดูดความสนใจหรือทำให้ผู้ฟังง่วง

เทคนิคที่ 8: ผ่อนคลายและสนุกกับการนำเสนอ

ความเครียดสามารถส่งผลลบต่อการนำเสนอได้ ดังนั้น ควรผ่อนคลายและมีความสุขกับสิ่งที่ทำ เพื่อให้การนำเสนอออกมามีชีวิตชีวาและสร้างบรรยากาศที่ดีให้กับผู้ฟัง

นำเทคนิคเหล่านี้ไปปรับใช้และฝึกฝนบ่อยๆ รับรองว่าการนำเสนอของคุณจะน่าสนใจและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น!

การเตรียมตัวพูดในที่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ

การพูดในที่ชุมชนอาจดูน่ากังวลสำหรับหลายคน แต่หากคุณเตรียมตัวอย่างเหมาะสม จะช่วยเพิ่มความมั่นใจและทำให้การพูดของคุณประสบความสำเร็จได้

1. รู้จักผู้ฟัง

  • ศึกษากลุ่มเป้าหมายของคุณ: พวกเขาเป็นใคร อายุ ความสนใจ หรือความต้องการของพวกเขาคืออะไร
  • ใช้ข้อมูลนี้กำหนดเนื้อหาและวิธีการสื่อสารให้เหมาะสม

2. กำหนดเป้าหมายการพูด

  • คุณต้องการให้ผู้ฟังรับรู้ หรือเกิดการกระทำอะไรหลังจากการพูดของคุณ?
  • กำหนดประเด็นหลักที่ชัดเจนและทำให้ทุกส่วนของการพูดสนับสนุนเป้าหมายนั้น

3. เตรียมเนื้อหา

  • วางโครงสร้างชัดเจน: แบ่งเนื้อหาเป็น 3 ส่วน (เริ่มต้น-เนื้อหา-สรุป)
  • ใช้ภาษาง่าย กระชับ และเข้าใจง่าย
  • ใส่ข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น การเล่าเรื่อง ตัวอย่างจริง สถิติ หรือคำคมที่เกี่ยวข้อง

4. ซ้อมพูด

  • ฝึกพูดหน้ากระจกหรืออัดวิดีโอตัวเองเพื่อตรวจสอบการแสดงออก น้ำเสียง และภาษากาย
  • ขอให้เพื่อนหรือคนใกล้ชิดฟังแล้วให้คำแนะนำ
  • ฝึกพูดในสถานที่จริง หากเป็นไปได้

5. ใช้ภาษากายและอวัจนภาษา

  • การยืนและท่าทาง: ยืนอย่างมั่นคง ไม่ไหวตัวไปมา
  • การใช้มือ: ใช้มือช่วยสื่อสาร แต่ไม่ควรใช้มากจนเกินไป
  • การสบตา: มองไปที่ผู้ฟังเพื่อสร้างความเชื่อมโยง

6. ควบคุมเวลา

  • วางแผนเวลาในการพูดให้เหมาะสม โดยเฉพาะหากคุณมีเวลาที่จำกัด
  • ฝึกซ้อมเพื่อให้มั่นใจว่าเนื้อหาสามารถพูดได้ครบภายในเวลาที่กำหนด

7. เตรียมรับมือกับคำถาม

  • คิดคำถามที่ผู้ฟังอาจถามล่วงหน้า และเตรียมคำตอบไว้
  • หากเจอคำถามที่ไม่แน่ใจ ให้ตอบอย่างซื่อสัตย์ว่า “ผมจะกลับไปหาข้อมูลเพิ่มเติมแล้วแจ้งให้ทราบ”

8. เตรียมอารมณ์และจิตใจ

  • ฝึกหายใจลึกๆ เพื่อลดความตื่นเต้น
  • คิดในแง่บวก: มองว่าคุณกำลังแบ่งปันสิ่งดีๆ ให้ผู้ฟัง
  • ยอมรับว่าความผิดพลาดเล็กน้อยเป็นเรื่องปกติ

9. ใช้อุปกรณ์ช่วย

  • หากใช้สไลด์ พยายามทำให้เรียบง่ายและดึงดูด
  • ทดสอบไมโครโฟน เครื่องฉาย หรืออุปกรณ์อื่นๆ ล่วงหน้า

10. สร้างความประทับใจตั้งแต่ต้น

  • เริ่มต้นด้วยคำพูดที่ดึงดูด เช่น คำถาม ข้อคิด หรือเรื่องราวสั้นๆ
  • สร้างความเชื่อมโยงกับผู้ฟังตั้งแต่แรก

เมื่อเตรียมตัวครบถ้วนแล้ว การพูดในที่ชุมชนจะกลายเป็นโอกาสที่ดีในการสื่อสารความคิดและสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟัง

โมเดล  4 ขั้นตอน ที่ช่วยให้คุณการตอบคำถามชัดเจนและน่าสนใจมากขึ้น

1. P: Point (ตอบประเด็นให้ตรงจุด)

  • เริ่มต้นด้วยการตอบประเด็นตรงๆ อย่าอ้อมค้อม
  • ตัวอย่าง: ถ้าถูกถามว่า “ควรจัดประชุมที่ไหน กรุงเทพฯ หรือ ต่างจังหวัด?”
    • Point: “ดิฉันคิดว่าควรจัดที่ต่างจังหวัดค่ะ”

2. E: Explain (อธิบายเหตุผล)

  • อธิบายเหตุผลสนับสนุนคำตอบของคุณ
  • ตัวอย่าง: “เพราะต่างจังหวัดมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน และยังช่วยหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรที่คาดเดาไม่ได้ในกรุงเทพฯ”

3. E: Example (ยกตัวอย่าง)

  • เสริมคำตอบด้วยตัวอย่าง เพื่อให้ผู้ฟังเห็นภาพ
  • ตัวอย่าง: “สมมติเราจัดที่กรุงเทพฯ ประชุมเสร็จตอนเย็น ผู้เข้าร่วมอยากไปพักผ่อน แต่ต้องเจอรถติด ฝนตก หรือน้ำท่วม ซึ่งต่างจังหวัดช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ค่ะ”

4. P: Point (กลับมาสรุปประเด็น)

  • สรุปประเด็นเดิมเพื่อย้ำความชัดเจน
  • ตัวอย่าง: “ดังนั้น ดิฉันจึงคิดว่าการจัดประชุมที่ต่างจังหวัดจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดค่ะ”

ตัวอย่างการใช้ PEEP

หัวหน้าถามว่า “คุณมองว่าสถานที่จัดประชุมควรเป็นที่ไหน?”

ตอบ:

  1. P: “ดิฉันคิดว่าควรจัดที่ต่างจังหวัดค่ะ”
  2. E: “เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันและหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรติดขัด”
  3. E: “สมมติเราจัดที่กรุงเทพฯ ประชุมเสร็จตอนเย็น รถติด ฝนตก อาจทำให้ผู้เข้าร่วมเหนื่อยล้า ต่างจากต่างจังหวัดที่เดินทางสะดวกและบรรยากาศผ่อนคลาย”
  4. P: “ดังนั้น ดิฉันขอเสนอให้จัดที่ต่างจังหวัดค่ะ”

เคล็ดลับเพิ่มเติม

  1. อย่ากลัวการตอบ: คำพูดทุกคำผ่านการกลั่นกรองจากประสบการณ์ ความรู้ และแนวคิดของเรามาแล้ว
  2. ฝึกซ้อม: ลองใช้โมเดล PEEP กับคำถาม เพื่อสร้างความมั่นใจ
  3. ไม่ต้องกังวลว่าจะคำตอบจะถูกหรือผิด: คำตอบ ไม่มีถูกไม่มีผิด มีแต่ มีความหมายอย่างเดียว 

การพูดในที่สาธารณะ เป็นทักษะที่สำคัญและสามารถทำได้ดีด้วยการฝึกฝนและเตรียมตัวอย่างเหมาะสม ขั้นตอนในการพูดในที่สาธารณะนั้นจะแบ่งออกเป็นหลายระยะ ตั้งแต่การวางแผนเนื้อหา จนถึงการลงจากเวที

ขั้นตอนแรกคือ การเตรียมเนื้อหา ควรกำหนดวัตถุประสงค์ของการพูด โดยพิจารณาว่าสิ่งที่ต้องการสื่อสารคืออะไร และใครคือผู้ฟัง จากนั้นจัดเรียงเนื้อหาให้มีโครงสร้างที่ชัดเจน มีการเกริ่นนำ ตัวอย่าง และสรุปผล การฝึกซ้อมช่วยให้ผู้พูดมั่นใจมากขึ้น 

ขั้นตอนเพื่อการพูด สรุปได้ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 คือการเตรียมตัวและวางแผน แนะนำให้ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับหัวข้อที่จะพูดให้เพียงพอ ทำความเข้าใจกับรายละเอียดของเรื่องราว และเตรียมประเด็นหลักที่จะนำเสนอไว้ล่วงหน้า การจัดเรียงลำดับเนื้อหาให้เป็นระเบียบ จะช่วยให้ผู้ฟังติดตามและเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงควรเตรียมสไลด์หรือวัสดุอื่นๆ ที่จะใช้นำเสนอให้พร้อม

ขั้นตอนที่ 2 คือการฝึกฝน ควรฝึกพูดหน้ากระจกหรือกับเพื่อนเพื่อรับคำแนะนำ การฝึกฝนจะช่วยให้เราสามารถปรับปรุงการเรียบเรียงคำพูด และช่วยลดความตื่นเต้นเมื่อต้องพูดจริง การตั้งเป้าหมายในการพูดและฝึกซ้อมตามเวลาเป็นวิธีที่ดีในการเพิ่มความมั่นใจ

ควรเตรียมตัวก่อนล่วงหน้า เพื่อให้มีเวลาปรับตัวกับสถานที่และตรวจสอบอุปกรณ์ เสียงพูดและการนำเสนอ นอกจากนี้ ควรตรวจสอบท่าทางการยืน การใช้มือประกอบการพูด และการใช้น้ำเสียงให้เหมาะสม

ระหว่างการพูด ควรรักษาความใจเย็น มองผู้ฟังเป็นจุดหยอด ยิ้มให้บ่อย การใช้การมองผู้ฟังจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ไม่ควรอ่านจากโพยตลอดเวลา ใช้เพียงเปิดดูในกรณีที่จำเป็น เพื่อไม่ให้ขาดความเป็นธรรมชาติ รับฟังคำถามและตอบอย่างตรงไปตรงมา สุภาพ และเป็นตัวของตัวเอง เป็นสิ่งที่สำคัญ

เมื่อกล่าวจบ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ฟังสอบถามหรือให้แสดงความคิดเห็น เป็นการเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยน ความร่วมมือกับผู้ฟังจะช่วยให้การนำเสนอเป็นไปอย่างกลมกลืนและมีประสิทธิผลมากขึ้น

การพูดในที่สาธารณะไม่ใช่สิ่งที่เกิดจากพรสวรรค์เพียงอย่างเดียว เป็นทักษะที่พัฒนาได้ผ่านการฝึกฝนและ การเตรียมตัวอย่างต่อเนื่อง ระลึกถึงขั้นตอนและแนวทางที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยให้การพูดมีประสิทธิภาพมากและเกิดความสำเร็จในอนาคต

ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างหัวหน้าและลูกน้อง: กรณีศึกษาของแพม

แพมเล่าปัญหา
แพม อายุ 28 ปี ตำแหน่งนักเขียนคอนเทนต์ มีปัญหาเรื่องการทำงานร่วมกับหัวหน้า ซึ่งทำให้รู้สึกอยากลาออก หัวหน้าของแพมมักสั่งงานคลุมเครือ เปลี่ยนใจบ่อย ต้องแก้ไขงานซ้ำ และบางครั้งพูดจาแรงจนเสียกำลังใจ ทำให้แพมไม่แฮปปี้กับการทำงาน และเกิดคำถามว่า ควรจัดการอย่างไร

คำแนะนำจากพี่ชุ
พี่ชุ มองปัญหานี้ใน 2 มุม คือมุมของลูกน้องและมุมของหัวหน้า พร้อมให้ข้อคิดและแนวทางการรับมือ

มุมมองและคำแนะนำสำหรับแพม

  1. การพูดคุยตรงไปตรงมา
    ลองนั่งคุยกับหัวหน้าแบบเปิดใจในบรรยากาศส่วนตัว เพื่อหาโอกาสแก้ไขปัญหา บางครั้งหัวหน้าอาจเผชิญกับความกดดันหรือขาดประสบการณ์ ซึ่งการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์อาจช่วยเปิดมุมมองและทำให้เข้าใจกันมากขึ้น
  2. โฟกัสที่งาน ไม่ใช่ที่หัวหน้า
    หากแพมยังรักงานที่ทำ ให้เน้นสร้างผลงานที่มีคุณภาพ และอย่าให้ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นกับหัวหน้ามาบั่นทอนกำลังใจ
  3. พัฒนาตัวเองให้เก่ง
    การมีผลงานที่ชัดเจนและโดดเด่นจะเป็นเกราะป้องกันให้แพมได้รับการยอมรับจากองค์กร แม้ว่าจะมีความขัดแย้งกับหัวหน้าก็ตาม
  4. มองหาทางเลือกที่ดีกว่า
    หากหัวหน้าไม่ใช่คนที่เหมาะสมสำหรับแพม การพัฒนาความสามารถของตัวเองจนเป็นที่ยอมรับ จะช่วยให้มีโอกาสโยกย้ายไปตำแหน่งหรือองค์กรใหม่ที่เหมาะสมกว่า

  ข้อคิดสำหรับหัวหน้า

  1. คำพูดมีพลัง
    คำพูดของหัวหน้าเปรียบเสมือนอาวุธ(ขีปนาวุธ มีอำนาจการทำลายล้างสูง)หรือดอกไม้ หากพูดแรงหรือขาดความระมัดระวัง อาจสร้างบาดแผลในใจลูกน้อง แม้จะขอโทษ แต่รอยความรู้สึกยังคงอยู่
  2. สร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์
    หัวหน้าควรสื่อสารอย่างชัดเจน มุ่งเน้นที่เป้าหมายงาน และหลีกเลี่ยงการใช้อารมณ์เชิงลบกับลูกน้อง
  3. การเป็นแบบอย่างที่ดี
    พฤติกรรมของหัวหน้าคือแบบอย่างที่ลูกน้องจะเลียนแบบ การแสดงอคติหรือใช้อำนาจในทางลบ อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่ยากจะแก้ไข
  4. เปิดใจรับฟังและพัฒนา
    หัวหน้าควรสังเกตตัวเองและเปิดรับฟีดแบ็กเพื่อปรับปรุงพฤติกรรม ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ แต่ความตั้งใจที่จะพัฒนาและใส่ใจลูกน้อง จะช่วยลดปัญหาได้มาก

                บทสรุปและกำลังใจ

ปัญหาความสัมพันธ์กับหัวหน้าอาจเป็นบททดสอบที่ท้าทาย แต่น้องแพมควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาตัวเองและมองหาหนทางที่เหมาะสมที่สุด หากวันนี้ยังต้องอยู่กับหัวหน้าที่ไม่ใช่ การพัฒนาความสามารถจนถึงจุดที่ “เราเป็นผู้เลือก” จะช่วยให้อนาคตของแพมมีทางเลือกที่ดีกว่า

พี่ชุส่งกำลังใจ: ขอให้น้องแพมอดทน สร้างผลงาน และพัฒนาตัวเองต่อไป เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ทุกสิ่งจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สู้ๆ!

5 คุณสมบัติของหัวหน้าให้ปลอดจาก “ความสัมพันธ์เชิงลบ”  (คลิป)

จะต้องเป็นแบบอย่าง(Role model) ให้คนทำตาม สร้างความสัมพันธ์เชิงบวก สร้างบรรยากาศการทำงานที่ดี ลดความตึงเครียด  ช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน 

  1. รักษาผลประโยชน์องค์กรเป็นที่ตั้ง
    ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนเสมอ มีความยุติธรรมและไม่ลำเอียงจะสร้างความไว้วางใจในทีม ไม่มีใครอยากรู้สึกว่าถูกเอาเปรียบ หรือไม่ได้รับความเป็นธรรม การเป็นหัวหน้าคือยกความดี ความชอบให้กับทีมงาน การเปิดโอกาสให้ทีมงานได้แสดงความสามารถ  
  2. มุ่งมั่นแก้ปัญหา
    เมื่อเกิดปัญหา อย่าโยนความผิด ต้องร่วมมือกันหาต้นตอ และช่วยทีมก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยกัน  เมื่อไหร่ที่เกิดข้อผิดพลาด อย่าเอาแต่ตำหนิกัน  ต้องมีความมุ่งมั่นที่จะช่วยกัน อย่าลืมที่จะเป็นผู้นำที่ช่วยทีมงานของเรา ในการค่อยๆ พาพวกเขาเดิน จนเขาสามารถก้าวข้ามปัญหานั้นไปได้
  3. เป็นกระจกสะท้อน กล้าแนะนำ
    หัวหน้าต้องกล้าให้ฟีดแบ็กที่สร้างสรรค์ เพื่อให้ทีมเห็นจุดที่ควรปรับปรุง  ถ้าหวังให้เพื่อนร่วมงานไปเตือนกัน บอกเลยมันไม่มีทางหรอกเพราะเขามองว่ามันไม่ใช่เรื่องของเขา จะหาเรื่องใส่ตัวทะเลาะกันซะเปล่าๆ
  4. ไม่เอาความดีเข้าตัว
    ให้เครดิตแก่ทีมงาน สร้างความรู้สึกมีคุณค่า เขาจะได้รู้สึกว่าทำงานกับเราแล้ว  มีคนเห็นคุณค่า เวลาเราอยากจะให้เขาทำงาน เขาก็จะมีใจให้กับเรามากขึ้น ถ้าเอาเครดิตเข้าตัวเอง รอบหน้าเขาก็ไม่ช่วยแล้ว เพราะเขารู้สึกว่า ทำให้แล้วก็ไม่ได้อะไร เขาจะคิดว่า ถึงไม่ได้อะไร เขาก็ไม่อยากจะเสียอะไร ก็เลยไม่ช่วยแล้วกัน  
  5. อ่อนน้อมถ่อมตน
    ไม่มีอีโก้ พร้อมรับฟัง การแสดงความถ่อมตนช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ไม่ว่าหัวหน้าจะเก่งหรือมีความสามารถมากแค่ไหน เป็นคนที่พร้อมที่จะรับฟังคนอื่น แสดงให้คนอื่นเห็นว่าเราเป็นคนที่พูดคุยได้ รับฟังคนอื่น เข้าหาได้ง่าย เวลาเราไปติดต่อกับคนอื่น เขาก็อยากให้โอกาส  อยากทำงานด้วย

**7 สิ่งที่คนสำเร็จทำกัน**  (คลิป)

คนสำเร็จมักมีแนวทางและวิธีการที่ส่งผลให้พวกเขาก้าวหน้าในชีวิต การเข้าใจและนำหลักการเหล่านี้ไปปรับใช้จะช่วยให้เราเดินหน้าอย่างมั่นคง เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งหลัก 7 ข้อง่าย ๆ ที่คนสำเร็จทำมีดังนี้

**1. วางแผนแต่ละวัน อย่างมีเป้าหมายและลงมือทำ**  

คนสำเร็จมักเริ่มต้นวันด้วยการวางแผนที่มีเป้าหมายชัดเจน พวกเขาโฟกัสที่การทำงานให้เกิดผลลัพธ์และผลผลิต ไม่ใช่แค่ทำงานที่ยุ่งอยู่ตลอดเวลา บางครั้งคนที่ดูยุ่งไม่ได้แปลว่าทำงานมีประสิทธิผล ดังนั้น ควรเลือก ” Productive” แทนที่จะเลือก “Busy”  

**2. กล้าก้าวออกจาก Comfort Zone**  

ความสำเร็จมักเริ่มต้นจากการเผชิญหน้ากับความรู้สึกไม่สบายใจ ความกังวลในช่วงแรก หากเรากล้าออกจาก Comfort Zone บ่อยครั้ง ความอึดอัดนั้นจะค่อยเริ่มลดลง และเราเรียนรู้ที่จะเติบโต คนสำเร็จไม่ได้กลัวความล้มเหลว แต่กลับมองว่าเป็นโอกาสพัฒนาตนเอง  

**3. แวดล้อมกับคนที่เก่งและคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน**  

การอยู่ในกลุ่มคนที่มีความคิดหรือเป้าหมายเดียวกันจะช่วยยกระดับตนเอง ในบางกรณี หากเราไม่สามารถหาโอกาสแบบนี้ได้ ก็ควรสร้างกลุ่มคนสำเร็จขึ้นมาเอง เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจ  

**4. โฟกัสที่ภาพใหญ่ หรือ เป้าหมายใหญ่สุด**  

แบ่งเป้าหมายใหญ่เป็นเป้าหมายย่อย คนสำเร็จมักมองเป้าหมายใหญ่ในระยะยาว แต่พวกเขาก็จะแยกย่อยเป้าหมายให้อยู่ในขอบเขตที่จัดการได้ เพื่อไม่ให้รู้สึกเหนื่อยล้าหรือท้อแท้ การทำเป้าหมายเล็ก ๆ สำเร็จทีละขั้นยังช่วยสร้างความมั่นใจในการเดินหน้าสู่เป้าหมายใหญ่  

**5. หยุดเมื่องานเสร็จ **  

การผลัดวันประกันพรุ่งเหมือนการสะสมหนี้ เช่น บัตรเครดิต สบายใจตอนรูด หนักใจตอนชำระหนี้  เราอาจรู้สึกสบายใจตอนแรก แต่ปัญหาจะย้อนกลับมากระทบในภายหลัง คนสำเร็จไม่ปล่อยให้ความกลัวมาหยุดกั้น แต่กลับใช้ความกลัวสร้างแรงผลักดันเพื่อเดินหน้าต่อ  เรามีการทำงานที่เป็นระบบ มีการวางแผน เราเขียนแผนให้ชัดเจน คนที่มีระบบ เป็นคนที่มีระเบียบ เป็นคนที่มีแผนงานที่ชัดเจน สิ่งนี้จะแสดงออกทุกสารพางค์ทั่วร่างกายของคุณ คือ มันจะสื่อออกมาเป็นภาษากาย  คำพูด  ทางสายตาเต็มไปด้วยความมุ่งมั่น แล้วสิ่งนี้ มันจะเป็นเรื่องของกฎแรงดึงดูด เมื่อคุณพัฒนาตัวเอง มันจะดึงดูดคนที่สำเร็จมาหาคุณ คนสำเร็จจะมองคุณออก และอยากจะอยากร่วมงานกับคุณ 

**6. เรียนรู้และฝึกฝนอย่างมีระบบ**  

การฝึกฝนอย่างต่อเนื่องเป็นคุณสมบัติสำคัญของคนสำเร็จ พวกเขามีระเบียบวินัยทั้งในความคิด การวางแผน และการลงมือทำ การเช็คลิสต์เป็นเครื่องมือช่วยตรวจสอบความคืบหน้าของงานในแต่ละวัน ทำให้การทำงานเป็นระบบและสามารถพัฒนาตนเองได้ต่อเนื่อง จงใช้ชีวิตในแต่ละวันประหนึ่งว่าเป็นวันสุดท้ายของชีวิต และจงเรียนรู้ประหนึ่งว่าคุณมีชีวิตอยู่ชัวนิรันดร์ คือ ใช้ชีวิตให้มีคุณค่า มีความหมาย โอบกอดความรัก ความปราถนาดีต่อผู้คน เรียนรู้ตลอดเวลา อย่าหยุดเรียนรู้ เพราะโลกไม่เคยหยุดสอน โลกให้บทเรียนเราเสมอ  คนสำเร็จจะออกจาก Comport Zone → Fear Zone → Learning Zone → Growth Zone 

**7. ไม่ยอมแพ้อุปสรรคหรือความท้าทาย**  

อุปสรรคเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คนสำเร็จเลือกหาทางแก้ไขและก้าวข้ามไป แทนที่จะหยุดอยู่ที่เดิม ความท้าทายเป็นสิ่งที่ทำให้เราพัฒนา หากทำแต่สิ่งที่ง่ายเกินไป เราจะไม่เติบโต เราจะไม่เห็นศักยภาพที่แท้จริงในตัวเอง  

กล่าวโดยสรุป 

อย่าลืมว่า “คนธรรมดาจะล้มเหลวเพราะปล่อยให้ความกลัวหยุดเขา ในขณะที่คนสำเร็จทำต่อไปแม้ยังกลัวอยู่”  ดังนั้น หากคุณต้องการสร้างความสำเร็จ ลงมือทำตั้งแต่วันนี้และไม่หยุดที่จะเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคในทุกวัน

สอบถามปัญหา
ส่งข้อความสอบถามด้านล่าง

ที่อยู่ :

139 ม.5 ต.นาโพธิ์ อ.กุดรัง จ.มหาสารคาม 44130
Tel: 094-952-9562 Line id: 9562opad